ศาลเจ้าแห่งนี้ตั้งขึ้นเมื่อใดไม่มีหลักฐานบันทึกที่แน่นอน แต่พอประมวลได้ว่าตั้งขึ้นสมัยอยุธยาโดยพิจารณาทางภูมิศาสตร์บริเวณท่าตีน - ท่าวังและหลักฐานโบราณคดีที่แสดงให้เห็นว่าเคยเป็นอู่เรือและเป็นปากทางสัญจรเข้าออกของเมืองนครมาก่อนตั้งแต่ยุคนครดอนพระซึ่งตรงกับสมัยอยุธยา และค้นพบโบราณวัตถุและโบราณสถานที่แสดงถึงความเป็นชุมชนชาวจีนในบริเวณนี้ ได้แก่
๑,โบราณวัตถุที่แสดงให้เห็นถึงการดำรงอยู่ของชาวจีนในท่าวัง - ท่าตีนที่มีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิงของจีน ตรงกับสมัยอยุธยา
๒,พบแผ่นสลักหน้าหลุมศพ ๒ แผ่นเคยตั้งอยู่ด้านซ้ายของหัวสะพาน(ทางขึ้นสะพานยาว)ด้านมุมทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัดท่ามอญ(ปัจจุบันคือวัดศรีทวี) และถูกย้ายไปอยู่ที่วัดประดู่ แผ่นหนึ่งระบุผู้ตายชื่อ เจิ้นเอ๋อ(แต้ฮ้ว สำเนียงแต้จิ๋ว) เกิดที่อำเภอกู่ มณฑลฮกเกี้ยน ตายสมัยรัชสมัยเฉียนหลง ปีติ่งเฉ่า(ตรงกับ พ.ศ.๒๓๐๐) อีกแผ่นหนึ่งผู้ตายชื่อจูตั่ง ชาวเมืองกานโถว มณฑลฮกเกี้ยน ตายสมัยรัชสมัยเฉียนหลง ปีที่ ๓๓ (ตรงกับ พ.ศ.๒๓๑๑)
๓,โบราณสถานสำคัญที่ดำรงอยู่ถึงปัจจุบันคือ ศาลเจ้าหม่าโจ้วนี่เอง ด้วยเป็นศาลเจ้าที่เคารพนับถือของชุมชน ให้ความคุ้มครองในการเดินเรือสัญญจรทางทะเล
ภายในศาลเจ้ามีแผ่นป้ายไม้ขนาดใหญ่อยู่เหนือซุ้มประธาน จารึกเป็นอัษรจีน 波扬不海
แปลความว่าทะเลคลื่นสงบหรือทะเลไม่มีคลื่นเป็นอุปสรรค ผู้บริจากแผ่นป้ายชื่อ เฉินเยิ่นเสอะ ชาวอำเภอเหยาผิง เมืองเฉาโจว(สำเนียงแต้จิ๋ว) จารึกในรัชสมัยกวางซี ปีติ่งไห้ (ตรงกับ พ.ศ.๒๔๓๐)
ใต้ป้ายไม้มีอักษรจีนว่า “เทียงโห่วเซี้ยบ้อ”天后聖母
ตำนานความเป็นมาของหม่าโจ้ว
หม่าโจ้ว 妈祖 เป็นสำเนียงแต้จิ๋ว หากเป็นจีนกลาง ออกเสียงว่า "มาจู่"
ชาวจีนฮกเกี้ยน แต้จิ๋ว กวางตุ้งและไหหลำ มีความคุ้นเคยกับทะเลมาช้านาน แม้พวกเขาจะคุ้นเคยกับทะเล แต่ก็มีความเกรงกลัวสุดๆ คนแต้จิ๋วรุ่นก่อนพูดว่า “เกี่ยจุ๊งชุกไฮ่ซาฮุงเหมี่ย” 行船出海三分命 หมายถึงว่าแล่นเรือออกเดินทางในมหาสมุทร โอกาสมีชีวิตเหลือแค่ 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ก่อนออกเดินทาง พวกเขาและญาติพี่น้อง จะไปบนบานศาลกล่าวต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอให้เดินทางโดยปลอดภัย โดยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่กราบไหว้บูชาก่อนออกเดินทาง หากเป็นคนแต้จิ๋ว ก็ไม่พ้นปึงถ่าวกง 本头公 ตั่วเหล่าเอี๊ย 大老爷 (เจ้าพ่อเสือ) และหมาโจ้ว 妈祖
เทพมาจู่หรือหม่าโจ้ว 妈祖 ไม่ได้เป็นเทพมาตั้งแต่ต้น ท่านเกิดเป็นมนุษย์อย่างเราๆ ท่านๆ ในวันที่ 23 เดือน 3 ตามปฏิทินทางจันทรคติอย่างจีน ปี ค.ศ. 960 ปีนั้นเป็นปีแรกแห่งศักราชเจี้ยนหลง 建隆 ซ่งไท่จู่จ้าวควงอิ้น 宋太祖赵匡胤 ขึ้นครองราชย์เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ซ่ง 宋 (เริ่มราชวงศ์ซ่งเหนือ 北宋)
มาจู่เป็นคนเกาะเหมยโจว 湄洲岛 แต่ข้อมูลบางแห่งระบุว่าไม่ได้เกิดบนเกาะ แต่บ้านเกิดอยู่แถวอ่าวใกล้เกาะเหมยโจว 湄洲湾畔 อำเภอผูเถียน 莆田 มณฑลฝูเจี้ยน 福建 หรือฮกเกี้ยนนั่นเอง พ่อของนางแซ่ลิ้ม(หลิน) ชื่อหลิ่มเต็ก 林德 แต่บางแห่งระบุหลิ่มหงวง 林愿 แม่แซ่เฮ้ง(หวางสื้อ 王氏)
มาจู่ยามเด็กไม่ร้องไห้โยเย อยู่นิ่งๆ เงียบๆ พ่อแม่เลยตั้งชื่อว่าโม่ 默 (แต้จิ๋วว่ามิก) แปลว่าเงียบ ต่อมาจึงเรียกกันว่า หลินโม่เหนียง 林默娘 หรือแต้จิ๋วว่า หลิ่มหมิกเนี้ย
อภินิหารของโม่เหนียง 默娘 ในการช่วยเหลือชาวประมงและนักเดินเรือ เป็นที่โจษจันตั้งแต่แม่นางยังมีชีวิตอยู่ ผู้มีประสบการณ์รอดชีวิตกลับมา ได้แต่ขนานนามให้โม่เหนียงเป็น “ทงเสียนหลิงหนี่ว์” 通贤灵女 หรือ “หลงหนี่ว์” 龙女 แปลว่าเทพธิดาผู้รู้แจ้ง หรือเทพธิดาพญามังกร
ความดีงามและอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของโม่เหนียง ไม่เคยจืดจางไปจากศรัทธาของชาวบ้าน เมื่อโม่เหนียงจากไป ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันสร้างศาลเจ้าหลินโม่เหนียง 林默娘庙 เป็นที่รำลึก แต่แรงศรัทธาไม่หยุดเพียงแค่นั้น ชาวบ้านชาวช่องในเมืองในมณฑลต่างๆ ก็พากันสร้างศาลเจ้าโม่เหนียงในกาลต่อมา
เวลาผ่านไปเป็นร้อยเป็นพันปี โม่เหนียงก็ถูกชาวบ้านยกเป็นย่าทวดยายทวด จึงเรียกว่าหมาโจ้วหรือมาจู่ 妈祖
ศาลเจ้าโม่เหนียง จีนใช้คำว่าเมี่ยว 庙 ก็ให้เปลี่ยนมาเป็น “กง” 宫 หมายถึงวัง คำว่ากงนี้ แต้จิ๋วออกเสียงว่า “เก็ง” ฉะนั้นศาลเจ้าอาม่า 阿妈(หมายถึงศาลหลินโม่เหนียง) คนแต้จิ๋วก็เรียกว่า “หมาเก็ง” 妈宫ส่วนเทียนโฮ่ว 天后 แต้จิ๋วออกเสียงว่า “เทียงโหว”เสิ้งหมู่ 聖母 แต้จิ๋วว่า “เซี้ยบ้อ” ก็เอามาสมาสเป็น “เทียงโห่วเซี้ยบ้อ” 天后聖母 ก็หมายถึงท่านโม่เหนียงเหมือนกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น