ชาวจีนเริ่มอพยพเข้ามาพำนักอาศัยในแผ่นดินที่ เป็นประเทศไทยปัจจุบันตั้งแต่สมัยสุโขทัย ดังปรากฏว่าได้มีการส่งคณะทูตจากจีนมายังราชสำนักแห่งอาณาจักรสุโขทัย และมีการส่งคณะทูตไทยไปยังปักกิ่งเช่นกัน ชาวจีนที่อพยพเข้ามาในระยะแรกส่วนใหญ่มาจากทางตอนใต้ของจีน เราอาจจำแนกชาวจีนอพยพจากกลุ่มภาษาและภูมิลำเนาได้ดังนี้
- กลุ่มจีนแต้จิ๋ว มาจากตะวันออกเฉียงเหนือของมณฑลกวางตุ้ง
- กลุ่มจีนฮกเกี้ยน มาจากตอนใต้ของมณฑลฝูเจี้ยน
- กลุ่มจีนไหหลำ มาจากตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะไหหลำ
- กลุ่มจีนกวางตุ้ง มาจากตอนกลางของมณฑลกวางตุ้ง
- กลุ่มจีนแคะ มาจากตอนเหนือของมณฑลกวางตุ้ง
จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ไทยกล่าวว่า ชาวจีนที่เดินทางมาไทยในสมัยอยุธยาส่วนใหญ่เป็นจีนฮกเกี้ยน มักมีอาชีพรับราชการ แต่หลังสมัยอยุธยาจะมีชาวจีนแต้จิ๋วอพยพเข้ามาเป็นจำนวนมาก จีนฮกเกี้ยนมีเป็นจำนวนมากแถบภาคใต้ของไทยในจังหวัดภูเก็ต ปัตตานี สงขลา และระนอง
สำหรับ จีนแต้จิ๋วอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา และชลบุรีเป็นส่วนใหญ่ ชาวจีนแต้จิ๋วอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยเป็นจำนวนมากในระยะหลังปี พ.ศ. ๒๓๑๐ เนื่องจากได้รับการสนับสนุน และได้รับสิทธิพิเศษบางประการ เพราะพระเจ้าตากสินทรงมีพระบิดาเป็นชาวแต้จิ๋ว และชาวแต้จิ๋วได้มีบทบาทในการสู้รบเพื่อกอบกู้เอกราช
พวกแต้จิ๋วส่วนใหญ่จะอพยพมาทางเรือ และตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณทิศตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศไทย ได้แก่เมืองต่าง ๆ ในอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ได้แก่ ตราด จันทบุรี บางปลาสร้อย (ชลบุรี) แปดริ้ว (ฉะเชิงเทรา) และในกรุงเทพฯ ต่อมาภายหลังในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ พวกแต้จิ๋วจึงขยับขยายออกไปตั้งถิ่นฐานใหม่นอกเขตดังกล่าว ได้แก่ อุตรดิตถ์ ปากน้ำโพ(นครสวรรค์) ตลอดจนพิจิตร พิษณุโลก สวรรคโลก เด่นชัยเมื่อมีการสร้างทางรถไฟไปถึงแก่งคอยและขึ้นไปทางเหนือในปี พ.ศ. ๒๔๕๑
เป็นการยากที่จะระบุจำนวนชาวจีนกลุ่มต่าง ๆ ในประเทศไทย แต่ยืนยันได้ว่าในบรรดาชาวจีนกลุ่มต่าง ๆ นั้น มีชาวจีนแต้จิ๋วมากที่สุด
ชื่อแต้จิ๋วนอกจากจะเป็นชื่อของกลุ่มชาวจีนที่พูดภาษาถิ่นเดียวกัน คือภาษาแต้จิ๋วแล้ว ยังเป็นชื่อเมืองเก่าแก่อันเป็นต้นกำเนิดของชาวแต้จิ๋วทั้งหลาย ได้แก่ เมืองแต้จิ๋ว (Teochiu) หรือเมืองเฉาโจว (Chaozhou) ตามที่ออกเสียงในภาษากลาง เมืองแต้จิ๋วเป็นเขตการปกครองที่เป็นศูนย์กลางของภาคตะวันออกของมณฑล กวางตุ้งมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๕ ตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. ๔๑๓ ในราชวงศ์จิ้นตะวันออก เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ การปกครอง และวัฒนธรรมของภูมิภาคตลอดมา จนมีคำกล่าวกันว่า "หากมากวางตุ้งแล้วมิได้เห็นเมืองแต้จิ๋วก็เสียเที่ยวเปล่า"
เมืองแต้จิ๋วเป็นที่รู้จักกันดีในด้านทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ส้มแต้จิ๋ว ชาแต้จิ๋ว น้ำตาลแต้จิ๋ว ในด้านวัฒนธรรม เช่น อาหารแต้จิ๋ว งิ้วแต้จิ๋ว ผ้าปักลูกไม้แต้จิ๋ว ฯลฯ
ชื่อแต้จิ๋ว 潮州 เป็นชื่อโบราณ คำว่าเตีย (แต้ 潮 ) เป็นคำโบราณแปลว่า ทะเล คำว่า โจว (จิ๋ว 州) แปลว่า เมือง แต้จิ๋วจึงแปลว่าเมืองชายทะเล คล้าย ๆ ชื่อจังหวัดชลบุรีของไทยเรา ชาวจีนแต้จิ๋วรุนเก่า ๆ ที่อพยพมาเมืองไทยบางคนยังบอกว่าตนมาจากเมืองแต้จิ๋ว แต่คนรุ่นหลังจะเรียกชื่อใหม่คือชื่อเตี่ยอัน ซึ่งเป็นชื่อที่ออกสำเนียงแต้จิ๋วของอำเภอเฉาอัน (Chaoan) ปัจจุบันอำเภอเฉาอันคือที่ตั้งของเมืองแต้จิ๋วโบราณ เมืองแต้จิ๋วในระยะหลังเมื่อผ่านยุครุ่งเรืองแล้ว ได้กลายเป็นอำเภอเฉาอัน สังกัดเทศบาลนครซ่านโถว (ซัวเถา) จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๓๒ จึงได้รับการตั้งเป็นเทศบาลเมืองสังกัดมณฑลกวางตุ้ง รัฐบาลจีนได้ประกาศให้เมืองแต้จิ๋วเป็นเมืองประวัติศาสตร์ในปี พ.ศ. ๒๕๒๙
อย่างไรก็ตาม เขตวัฒนธรรมแต้จิ๋วมิได้มีขอบข่ายอยู่เฉพาะเมืองแต้จิ๋ว เมื่อครั้งที่แต้จิ๋วยังเป็นมณฑล มีอำเภออยู่ในสังกัดอำเภอเหล่านั้นก็ล้วนเป็นเขตวัฒนธรรมแต้จิ๋ว และเป็นบริเวณที่คนไทยเคยได้ยินชื่อคุ้นหูทั้งสิ้น เช่น เท่งไห้ ซัวเถา โผ่วเล้ง ฯลฯ อำเภอเฉิงห่าย หรือเท่งไห้ เป็นอำเภอสำคัญ เพราะได้มีท่าเรือใหญ่เกิดขึ้นที่นี่ในต้นราชวงศ์หมิง (คริสต์ศตวรรษที่ ๑๕) ชื่อว่าจางหลิน หรือ จึงลิ้ม ชาวแต้จิ๋วที่อพยพมาเมืองไทยในช่วงแรก ๆ ล้วนลงเรือที่ท่าจางหลินทั้งสิน ในสมัยต่อมาเมื่อมีการเปิดท่าเรือซัวเถาที่เมืองซัวเถาหรือซานโถว (Shantou) ชาวแต้จิ๋วจึงออกเดินทางจากท่าเรือซัวเถา เมืองซัวเถากลายเป็นศูนย์กลางของเขตวัฒนธรรมแต้จิ๋วและยังเป็นมาจนทุกวันนี้
ข้อมูลทั้งหมดนี้ ได้มาจากข้อเขียนของ สุภางค์ จันทวานิชรายงานการวิจัยเรื่อง ชาวจีนแต้จิ๋วในประเทศไทยและในภูมิลำเนาเดิมที่เฉาซัน : สมัยที่หนึ่ง ท่าเรือจางหลิน (๒๓๑๐-๒๓๙๓)
“ข้อมูลสนับสนุนจาก หนังสือ ๑๐๘ ซองคำถาม / สำนักพิมพ์สารคดี”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น