วันอาทิตย์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2558

กงเต๊ก



กงเต๊ก (จีน: 功德; พินอิน: Gōngdé, กงเต๋อ) เป็นการทำบุญให้แก่ผู้ตายตามพิธีของนักบวชนิกายจีนและญวน มีการสวดและเผากระดาษที่ทำเป็นรูปต่าง ๆ มีบ้านเรือน คนใช้ เป็นต้น




“กงเต็ก” พิธีกรรมอันเป็นวัฒนธรรมจีนที่สืบทอดกันมากว่าพันปี ติดตามชาวจีนไปทุกแห่งหน เป็นสะพานความเชื่อที่เชื่อมโยง “ชีวิตหลังความตาย” เข้ากับ “วิถีชีวิตของคนเป็น”

กงเต็ก : ส่งวิญญาณด้วยความกตัญญู 
คำว่า กงเต๊ก เป็นคำสองคำประกอบกัน กง (功) แปลว่า ทำ เต๊ก (德) แปลว่า บุญกุศล


การแสดงความกตัญญูของลูกหลานออกมาเป็นพิธีอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้วายชนม์ และการกระทำสะสมความดีของคนผู้นั้นเอง พิธีการนี้ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ ในชีวิตของลูกหลานจีนคนหนึ่งอาจเคยเห็นเต็มที่แค่ครั้งหรือสองครั้ง เพราะผู้ที่จะรับกงเต็กได้นั้นต้องเป็นผู้ที่เสียชีวิตหลังจากอายุ 50 ปีขึ้นไป และได้แต่งงานมีบุตรหลานแล้วเท่านั้น (ถ้าอายุต่ำกว่า 50 จะไม่จัดพิธีให้ เพราะถือว่าเสียชีวิตก่อนเวลาอันควร) กงเต็กถือเป็นพิธีการอุทิศส่วนกุศลและส่งดวงวิญญาณให้เดินทางไปยังสวรรค์ ซึ่งจะทำกันในวันที่ 6 หลังจากการสวดอภิธรรมศพตามพิธีของชาวพุทธทั่วไป

การประกอบพิธีกงเต็กนั้น จะต้องจัดสถานที่ให้เป็นปะรำพิธี หรือ ห้องพิธี สมมุติเป็นมณเฑียรเสมาพระพุทธจักร มีโต๊ะประดิษฐานพระรูปของพระศากยมุนีพุทธเจ้า, พระอมิตาภพุทธเจ้า, พระไภษัชยคุรุพุทธเจ้า, พระมัญชุศรีโพธิสัตว์, พระสมันตภัทรโพธิสัตว์, พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์, พระกษิติครรภ์โพธิสัตว์ ประดับด้วย เครื่องสักการบูชาพร้อมมูล มีพระภิกษุเข้าประจำพิธี

        แบ่งได้ สามแบบ คือ พิธีของคนกวางตุ้ง และ พิธีคนแต้จิ๋ว พิธีคนแคะ(ฮากกา)

       1. แบบพระสงฆ์เป็นผู้ทำพิธี ซึ่งถ้าต่างคณะสงฆ์ก็มีรายละเอียดต่างกันชัดเจน อีกทั้งพระสงฆ์จีน นั้นก็รูปแบบแตกต่างกันขอยกตัวอย่าง ของกงเต็กแบบพระจีน
          1.1 กงเต็กแบบแต้จิ๋ว
            1. แบบคนตายผู้ชาย จะไม่มีพิธีกินน้ำแดง แต่จะสวดสาธยายพระสูตรต่าง ๆ แทน
            2. แบบคนตายผู้หญิง จะมีพิธีน้ำแดง พิธีกินน้ำแดง เป็นการสอนเรื่องความกตัญญู เลือด หรือน้ำแดง ที่ลูกหลานดื่ม นั้นคือน้ำนมจากแม่
          1.2 กงเต็กแบบคนกวางตุ้ง กวางตุ้งจะมีพิธีแตกต่างกัน สังเกตง่าย ๆ คือผ้าโพกหัวจะเป็นสีขาว ไม่ใส่เสื้อกระสอบ และจะต้องมีพิธีโยคะตันตระ พิธีเปิดประตูนรก
       2. แบบคนธรรมดาประกอบพิธี เป็นผู้ชายสวมชุดพระจีนสีขาว
       3. แบบกงเต๊กจีนแคะ(ฮากกา) เป็นนางหรือ "ชี" ทำพิธี แต่ไม่ใช่นางชีโกนหัวและพระจีนแคะ(ฮากกา)

ขนาดในการทำพิธีกงเต๊ก
               ขนาดในการทำพิธีกงเต๊กจะใหญ่ หรือเล็กขึ้นอยู่กับจำนวนพระที่นิมนต์มาสวด ถ้าเป็นกงเต๊กใหญ่จะต้องนิมนต์พระมาสวด 5 รูป ขึ้นไปอาจเป็น 5, 7, 9 หรือ 11 รูป หรือ 21 รูป ก็ได้

งานกงเต็กใหญ่จะเริ่มตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึงกลางคืน ส่วนงานธรรมดาเริ่มตั้งแต่บ่าย 3 โมงถึงกลางคืน

พิธีกงเต็กมีรากฐานมาจาก 3 ความเชื่อ ประกอบด้วย 1 ศาสนา และ 2 ลัทธิ นั่นคือ ศาสนาพุทธ ลัทธิเต๋า และลัทธิขงจื๊อ ศาสนาพุทธ (มหายานนิกายสุขาวดี) คือ บทสวดพระธรรมต่างๆ เป็นคำสอนที่ไม่มีพิธีกรรม ลัทธิเต๋า คือ ความสมดุลและพิธีกรรมเพื่อสื่อความหมาย ลัทธิขงจื๊อ คือ ของไหว้ และการปฏิบัติตัวของลูกหลานเพื่อแสดงถึงความกตัญญู กงเต็กมีพิธีกรรมที่ละเอียดอ่อนมาก ซ่อนความหมายไปแทบทุกอณู อีกทั้งรายละเอียดก็แตกต่างกันไปตามประเพณีของแต่ละมณฑล ขอยกพิธีของชาวจีนแต้จิ๋ว ซึ่งประกอบพิธีโดยคณะบุคลากรของพุทธแสงธรรมสมาคม โดยมีลำดับพิธีกรรมหลักๆ เพื่อให้เข้าใจความหมายโดยรวมดังนี้

1. สวดอัญเชิญพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์มาเป็นองค์ประธาน ณ พุทธสภา ที่แทนด้วยฉากผ้าปักสีแดง
2. ส่งสารไปยมโลกด้วยม้าและนก (กระดาษ) เพื่อแจ้งข่าวการเสียชีวิตไปยังสวรรค์และปรโลก เป็นการบอกกล่าวขอเปิดทางให้ดวงวิญญาณได้เดินทางโดยสะดวก
3. เชิญวิญญาณมาสถิตที่โคมไฟวิญญาณ (ถ่งฮ้วง - เชิญวิญญาณ) ซึ่งแขวนเสื้อของผู้เสียชีวิตไว้ แล้วเชิญให้อาบน้ำชำระดวงจิตที่ห้องน้ำ (หมกหยกเต๊ง – ศาลาแห่งความสะอาดบริสุทธิ์) เพื่อให้ดวงวิญญาณพร้อมสำหรับการฟังธรรม และรับของที่ลูกหลานเตรียมไว้ให้ ณ ปะรำพิธีซึ่งเป็นฉากผ้าปักสีน้ำเงิน
4. แจ้งบรรพบุรุษให้รับรู้ว่าลูกหลานท่านเสียแล้ว ด้วยการจัดข้าวปลาอาหารเตรียมรอรับ ให้บรรพบุรุษมาเป็นพี่เลี้ยงในการเดินทาง ขั้นตอนนี้เป็นสัญลักษณ์สอนให้ลูกหลานรู้คุณต่อบรรพบุรุษ และทำตามสืบทอดกันต่อไป
5. สวดอภิธรรมและสวดขอพรให้ดวงวิญญาณ
6. พิธีวิ่งธง มีมาตั้งแต่สมัยปลายราชวงศ์ซ่ง โดยวิ่งเป็นรูปยันต์ซึ่งพระอรหันต์จี้กงเขียนขึ้นเพื่อเรียกวิญญาณของพระนางฮีสีในยุคนั้น เป็นการเปิดโลกสวรรค์และมนุษย์ให้สามารถเชื่อมต่อถึงกันได้เพื่อลูกหลานที่ยังมีชีวิตสามารถข้ามสะพานไปส่งวิญญาณผู้วายชนม์ ณ สุดแดนมนุษย์
7. การเดินข้ามสะพาน เป็นสัญลักษณ์แทนการเดินทางไปสู่อีกภพหนึ่ง เพื่อส่งวิญญาณผู้วายชนม์สู่สุขคติภูมิ หรือแดนสุขาวดี(ไป๊ยฮุกโจ้ว)
8. สวดส่งเทพ ส่งวิญญาณ และถวายเครื่องกระดาษ (ซึ่งจะเผาในวันรุ่งขึ้นพร้อมกับพิธีฌาปนกิจหรือพิธีฝัง ตามแต่ประเพณีของครอบครัวนั้น) ถึงตรงนี้ก็เป็นอันจบพิธีกงเต็ก
รูปแบบของพิธีกงเต็กนั้นถูกสืบทอดมายาวนานบนขนบดั้งเดิม จะมีเปลี่ยนแปลงบ้างก็ในเรื่องของดนตรีและจังหวะการสวดที่เร็วขึ้น (เพื่อย่นระยะเวลา) ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ในพิธีก็ยังเหมือนเดิม มีเพิ่มเติมที่ฉากวิจิตรงดงามขึ้น และวงดนตรีก็มีเครื่องเสียงที่ดีขึ้นตามยุคตามสมัย

พิธีกงเต็กยังเชื่อมโยงอาชีพต่างๆ เข้าไว้ด้วยกันมากมาย ตั้งแต่ร้านโรงศพ  ร้านผ้า ร้านขายหมูเห็ดเป็ดไก่ ร้านขายธูปเทียนและเครื่องกระดาษ ร้านขายซาลาเปา ร้านดอกไม้ ร้านรับทำฉาก ฯลฯ ซึ่งส่วนมากก็ยังเป็นสินค้าที่คงรูปแบบเดิมๆ มีเพียงเครื่องกระดาษเท่านั้นที่มีการปรับดีไซน์ไปตามยุคสมัยอย่างชัดเจน

เครื่องกระดาษที่ “จำเป็น” ในพิธีกงเต็กมีอยู่เพียง 6 อย่าง ได้แก่ กระดาษเงินกระดาษทอง โคมไฟวิญญาณ ห้องน้ำ ม้า นก และหีบเสื้อผ้า ส่วนบ้านและเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เป็น “สิ่งรอง” ที่จัดทำขึ้นเพื่อความสบายใจของลูกหลาน (ที่ได้แสดงความกตัญญูต่อพ่อแม่และแสดงฐานะของตน)



ดีไซน์ของเครื่องกงเต็กที่จำเป็นนั้นคงเดิมมาตลอด มีเพียงขนาดที่ทำให้ใหญ่โตขึ้นตามฐานะ ส่วนเครื่องกระดาษประเภทบ้านและเฟอร์นิเจอร์นั้นได้เปลี่ยนแปลงดีไซน์ จากบ้านธรรมดาหลังเล็กๆ ก็กลายเป็นบ้านหลังใหญ่ ดีไซน์ทันสมัยสวยงามขึ้น เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ เองก็ปรับตัวตามไม่ให้น้อยหน้า และมีขนาด ดีไซน์ รวมถึงแบรนด์ที่ใกล้เคียงกับของจริงมากยิ่งขึ้น”

การเผาเครื่องกระดาษในพิธีกงเต็กนั้น นิยมเผาเฉพาะบ้าน เฟอร์นิเจอร์ หีบเสื้อผ้า และคนรับใช้ ที่เป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพในปรโลกเท่านั้น ส่วนของกระจุกกระจิกต่างๆ อย่างเครื่องประดับ เสื้อผ้า ไพ่นกกระจอก เครื่องเสียง รถยนต์ ฯลฯ จะเผาไปให้เพิ่มเติมในวัน “เชงเม้ง” ประจำปี เหมือนกับการซื้อของขวัญไปฝากผู้ใหญ่ ซึ่งในระยะหลังข้าวของเหล่านี้ก็มีหลากประเภทหลายรูปโฉมมากขึ้น เราจึงได้เห็นรถยนต์รุ่นใหม่ๆ มอเตอร์ไซค์ ทีวีจอแบน คอมพิวเตอร์โน้ตบุุ๊ค เสื้อผ้าสวยๆ รองเท้าแบรนด์เนม บัตรเครดิต ชุดดูแลผิวพรรณ หูฉลาม-รังนก ฯลฯ เพิ่มขึ้นมากมาย ซึ่งสินค้ากระจุกกระจิกเหล่านี้ล้วนมาจากเมืองจีน ด้วยขนาดเล็ก ขนส่งสะดวก และราคาถูก ส่วนเครื่องกระดาษชิ้นใหญ่ๆ อย่างบ้านและเฟอร์นิเจอร์ก็ผลิตในประเทศไทยนี่เอง

พิธีกรรม : อดีต ปัจจุบัน อนาคต 
การทำพิธีกงเต็กลดน้อยลงตามยุคสมัย เพราะลูกหลานรุ่นใหม่เห็นว่า “ควรดูแลคนที่ยังอยู่มากกว่า” แต่สมัยก่อนนั้น กงเต็กเป็นเรื่องที่ทุกครอบครัวต้องทำ เพราะถือว่าเป็นการแทนคุณพ่อแม่ (ชาวจีนเลี้ยงดูลูกหลานก็หวังอยู่ 2 อย่าง คือ ยามไม่สบายให้เจ้ามาดูแล และยามเดินทาง (เสียชีวิต) ให้เจ้ามาส่งหน่อย เท่านั้น) อย่างไรก็ดี ด้วยความที่เป็นวัฒนธรรมที่ฝังรากลึกมานับพันปี ทุกวันนี้ต่อให้มีการจัดพิธีกันน้อยลง แต่ก็มิถึงกับสูญหาย ขนาดในประเทศจีนช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมของเหมาเจ๋อตุง มีการออกกฎห้ามทำพิธีกรรมโดยเด็ดขาด (แม้แต่ไหว้เจ้ายังต้องแอบซ่อน) แต่เมื่อสิ้นสุดยุคนั้นลง พิธีกรรมต่างๆ ก็กลับคืนมาหมด มีการรื้อฟื้นกันเอิกเกริก

Credit : วิกิพีเดีย
http://www.tcdcconnect.com/content/Know-What/481
by: www.tcdcconnect.com
http://talk.mthai.com/topic/375133