ที่ตั้ง : ถนนราชดำเนิน อำเภอเมือง นครศรีธรรมราช
ศาลเจ้ากวนอู เริ่มการก่อตั้งประมาณปี พ.ศ.2430 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นปีที่ 13 ในรัชสมัยจักรพรรดิกวางซีฮ่องเต้ราชวงศ์ชิง
มีหลักฐานเป็นแผ่นป้ายไม้จารึกอักษรภาษาจีนสดุดีเกียรติคุณเทพกวนอู
แขวนไว้ภายในศาลเจ้า จำนวน 2 แผ่น แปลได้ความว่า
แผ่นแรก : ทรงมีอานุภาพและสง่างาม จารึกในปี พ.ศ.2472
โดย บริษัท เฉาเหยียน จัดสร้างถวาย
แผ่นที่สอง : ทรงมีคุณูปการในการปราบอาณาจักรเว่ยและรัฐอู๋ อย่างหาที่เปรียบมิได้
จารึกในปี พ.ศ.2430 เป็นปีที่ 13 ในรัชสมัยกวางซีฮ่องเต้
โดยนายเฉินเสอะ ชาวอำเภอเหยาผิง (เอี่ยวเพ้ง) เมืองเฉาโจว (แต้จิ๋ว)
ราว ปี พ.ศ.2430 นายหลีซำเฮง พ่อค้าคหบดีชาวจีนแต้จิ๋ว คนสำคัญกว้างขวางคนหนึ่งของเมืองนครศรีธรรมราชและทำหน้าที่เปรียบเสมือนเป็นผู้ใหญ่บ้านปกครองชาวจีนโพ้นทะเลชุมชนท่าวังในสมัยนั้น ได้อัญเชิญองค์รูปเคารพแกะสลักด้วยไม้ของเทพเจ้ากวนอุ
คือองค์ที่เห็นในปัจจุบันนี้มาจากเมืองแต้จิ๋วมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน มาประดิษฐาน ณ อาคารไม้ซึ่งตั้งขึ้นภายในบริเวณที่ทำการร้านค้าของท่าน (บริเวณเดียวกับปัจจุบัน ริมถนนราชดำเนิน ตำบลท่าวังใกล้สะพานราเมศวร์) โดยขนานนามว่า “ศาลเจ้ากวนอูนครศรีธรรมราช”
หลังการมรณกรรมของนายหลีซำเฮง ประมาณปี พ.ศ.2467 ทายาทของท่านได้รับการติดต่อขอซื้อที่ดินผืนดังกล่าวจากกลุ่มพ่อค้าคหบดีชาวจีนเพื่อใช้เป็นสถานที่สาธารณะกุศลและก่อตั้งสมาคมพาณิชย์จีนขึ้นในพื้นที่ดินเดียวกันกับศาลเจ้ากวนอู โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นศูนย์รวมของชาวจีนโพ้นทะเลในการติดต่อประสานงานกับส่วนราชการ และจัดงานต่าง ๆ ของชุมชน จนในปี พ.ศ.2472 คณะกรรมการสมาคมพาณิชย์จีนในขณะนั้นได้ร่วมกับชาวจีนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราชบริจาคเงินก่อสร้างอาคารที่ทำการสมาคมฯ หลังแรกเป็นอาคารคอนกรีตผสมไม้ โดยสร้างขึ้นบนที่ดินในสุดของแปลงจนแล้วเสร็จและสามารถเปิดทำการจดทะเบียนสมาคมฯ ในปี พ.ศ.2473
คณะกรรมการสมาคมฯ ได้แต่งตั้งนายอึ่งจือฉิ้น (บิดาของนายฮุยเซ็งและนายฮุยฮวง แซ่อึ่ง อดีตและนายกสมาคมพาณิชย์จีนคนปัจจุบัน) ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นเหรัญญิกของสมาคมฯ เป็นผู้จัดการศาลเจ้าและตั้งให้นายกวงโต๋ แซ่ตัน (ต้นสกุลตันศรีเจริญ) เป็นผู้จัดการฝ่ายสุสานจีนจงฮั้ว อันเป็นกิจกรรมหนึ่งของสมาคมพาณิชย์จีนที่เกิดขึ้นพร้อมกันกับการจดทะเบียนก่อตั้งสมาคมฯ
ต่อมาคณะกรรมการสมาคมพาณิชย์จีนส่วนใหญ่มีความเห็นว่า ทางเข้าออกของสมาคมฯ มีความไม่สะดวกและเหมาะสมเพราะตัวอาคารศาลเจ้ากวนอูตั้งบังเนื้อที่อาคารและทางเข้าออกของสมาคมฯ จึงได้มีมติให้เชิญชวนพี่น้องชาวจีนที่อาศัยอยู่ใน จ.นครศรีธรรมราช ตลอดจนกรุงเทพมหานคร ให้ร่วมกันทำบุญบริจาคเงินเพื่อก่อสร้างอาคารศาลเจ้าหลังใหม่เป็นอาคารคอนกรีต 2 ชั้น โดยมีนายอึ่งจือฉิ้น ผู้จัดการศาลเจ้าเป็นแม่กองงานและอัญเชิญรูปเคารพองค์เทพเจ้ากวนอู พระโพธิสัตว์กวนอิม และเทพเจ้านาจาขึ้นไปประดิษฐานยังชั้นที่ 2 ของอาคารศาลเจ้า ส่วนชั้นล่างได้เว้นช่องกลางของตัวอาคารไว้เป็นทางเข้าออกของสมาคมฯ ดังที่เห็นในปัจจุบันนี้
ศาลเจ้ากวนอูได้มี การบูรณะซ่อมแซมหลายครั้ง คือ
ปี พ.ศ.2514 - ย้ายบันไดทางขึ้นจากด้านหน้า 2 ข้างมาไว้ด้านในอาคารศาลเจ้า
- จัดสร้างเก๋งจีนที่ประดิษฐานเสาไหว้ฟ้าดิน
- เทพื้นชั้นบนเป็นบริเวณเพิ่มเติมด้านหน้าศาลเจ้า
ปี พ.ศ.2529 - ปรับปรุงกระเบื้องหลังคาเป็นรูปเก๋งจีนมีมังกรปูนปั้น
- ขยายพื้นที่ภายในอาคารศาลเจ้าจัดทำปูนปั้นเสามังกร
- ด้านหน้าอาคารศาลเจ้าจัดทำเสาปูนลวดลายมังกร
- จัดทำป้ายหน้าศาลเจ้าใหม่ทั้ง 3 แผ่น
- จัดทำบานประตูไม้ศาลเจ้าใหม่ทั้ง 3 บาน
- เขียนลวดลายภาพวาดใหม่หมดทั้งอาคารภายนอกและภายใน
- ปิดทององค์รูปเคารพขององค์เทพเจ้าทุกพระองค์ใหม่ทั้งหมด
ปี พ.ศ.2546 - ซ่อมแซมกระเบื้องหลังคาศาลเจ้า
- ซ่อมแซมทาสีเขียนลวดลายภาพวาดใหม่ทั้งอาคารภายนอกและ ภายใน
- ปูพื้นกระเบื้องบริเวณชั้นบนด้านนอกอาคารศาลเจ้า
- ปั้นปูนตัวมังกรคู่บนป้ายบูชาเสาไหว้ฟ้าดิน
ศาลเจ้ากวนอู นับว่าเป็นศาลเจ้าที่มีกิจกรรมและคุณูปการต่อชุมชนชาวจีนมากศาลเจ้าหนึ่ง เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้กับชุมชนเศรษฐกิจท่าวัง และอยู่ในบริเวณเดียวกันกับที่ทำการของสมาคมพาณิชย์จีน อาจนับได้ว่าเป็นต้นกำเนิดของสมาคมนั้นก็ว่าได้ อีกทั้งเป็นศาลเจ้าที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่าแห่งใด เป็นที่ก่อเกิดกลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ เช่น กลุ่มเชิดสิงโต กลุ่มดนตรีจีน และเป็นสถานที่แรกเริ่มในการก่อตั้งสมาคมต่าง ๆ เช่น สมาคมแต้จิ๋วนครศรีธรรมราช สมาคมซีเต็กมิตรสัมพันธ์นครศรีธรรมราช
พวกเราลูกหลานชาวไทยเชื้อสายจีนในจังหวัดนครศรีธรรมราช จึงต้องร่วมกันอนุรักษ์และรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมประเพณีที่บรรพบุรุษของพวกเราทุกคนได้รักษาไว้พร้อมกับประวัติศาสตร์การก่อตั้งศาลเจ้ากวนอูแห่งนี้มาจนครบ 122 ปี จนถึงปัจจุบันนี้
เรียบเรียงโดย นายชวลิตร อังวิทยาธร ,นายวิฑูรย์ อิสระพิทักษ์กุลและกรรมการศาลเจ้ากวนอูสมัยปี พ.ศ.2550-2552
+++++++++++++
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น